วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

บทที่ 12 ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน



หน่วยที่ 12
ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด


           โดยหลักแล้วความรับผิดในทางอาญานั้นเป็นความรับผิดในการกระทำของตนเอง การกระทำอันเป็นความผิดอันนั้นเองนำมาซึ่งความรับผิดและโทษทางอาญา ซึ่งเราแยกพิจารณาผู้กระทำความผิดในทางอาญาออกเป็น 3 กรณีด้วยกัน            1. ผู้กระทำความผิดด้วยตนเองหรือผู้กระทำความผิดโดยทางตรง ความรับผิดเกิดจากการกระทำทุกๆ อย่างต้องตามบทบัญญัติของความผิดฐานใดฐานหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติด้วยตนเอง เช่น เป็นคนเอาขวดตีหัวคนอื่น ขับรถชนคนอื่นด้วยตัวเอง            2. ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม ความรับผิดเกิดจากการใช้บุคคลที่ไม่มีเจตนากระทำความผิด (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด โดยที่ไม่ถือว่ากระทำความผิดโดยอ้อมไม่ใช่ผู้ใช้ เพราะผู้ถูกใช้ไม่มีเจตนากระทำความผิด            3. ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด (Parties to Crime) ความรับผิดกรณีนี้เกิดจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด เมื่อมีส่วนร่วมก็ต้องสมควรได้รับโทษ


            ในการกระทำความผิดอาญาฐานใดหนึ่งนั้นอาจมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหลายคน ซึ่งอาจเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเป็นผู้ที่ลงมือกระทำความผิดด้วยตนเอง หรือเป็นผู้ที่ได้ร่วมลงมือกระทำความผิด หรือเป็นผู้ที่ให้การช่วยเหลือผู้กระทำความผิด หรือเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเป็นผู้ที่ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด (Parties to Crime)”

            แนวความคิดเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของไทย หรือที่เราคุ้นเคยว่า เรื่อง ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ได้รับอิทธิพลของแนวความคิดกฎหมายอาญาของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ในเรื่อง Parties to Crime ซึ่งตามกฎหมายอาญาของคอมมอนลอว์ได้แยกประเภทของผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเอาไว้ 4 ประเภทด้วยกัน คือ

            1) Principal in the first degree หมายถึง ผู้ลงมือกระทำความผิด เช่น เป็นคนยิง เป็นคนใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เป็นคนเอาทรัพย์ไป เป็นคนหลอกลวงเหยื่อ

            2) Principal in the second degree หมายถึง ตัวการ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด เช่น คนคอยดูต้นทาง พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ (อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ)

            3) Accessory before the fact หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำผิด "ก่อน" ที่จะมีการลงมือกระทำผิด แต่มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ หรือใกล้กลับที่เกิดเหตุ

            4) Accessory after the fact หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้ลงมือ "หลัง" จากได้ลงมือกระทำผิดแล้ว เช่น การช่วยเหลือให้หลบหนีไม่ให้ถูกจับกุม

            ในเรื่องของ Parties to Crime นี้กฎหมายอาญาของคอมมอนลอว์ ได้แยกตัวการออกเป็น 2 ประเภท คือ ตัวการที่เป็น first degree กับตัวการที่เป็น second degree ซึ่งเป็นการแยกตามลักษณะของการกระทำความผิด ส่วนผู้สนับสนุน (Accessory) ก็แยกออกเป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้แยกตามลักษณะของการช่วยเหลือ เพราะทั้งสองประเภทเป็นการกระทำช่วยเหลือที่มีลักษณะเดียวกัน แต่แยกโดยอาศัยเวลาที่ให้การช่วยเหลือผู้กระทำความผิด หากช่วยเหลือก่อนลงมือกระทำความผิดก็เรียกว่า Accessory before the fact และหากช่วยเหลือหลังจากลงมือกระทำความผิดไปแล้วก็เรียกว่า Accessory after the fact



1.       ตัวการ (principal)


ตัวการ (Principal) ว่าตัวการที่กฎหมายอาญาของคอมมอนลอว์แยกออกมาเป็น 2 ประเภท เป็น first degree กับ second degree นั้นแตกต่างกันอย่างไร


1.1 Principal in the first degree

ตัวการในลำดับที่ 1 หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งกระทำความผิดด้วยตัวของเขาเอง (the person who actually commits the crime himself) หรือตามคำอธิบายกฎหมายอาญาของไทยเรียกว่า ผู้กระทำความผิดโดยตรง นอกจากนี้ยังหมายถึงบุคคลผู้ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ที่บริสุทธิ์กระทำความผิดเพื่อตัวของเขา (causes an innocent person to commit the crime for him) ซึ่งตามคำอธิบายกฎหมายอาญาของไทยเรียกว่า ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม ดังนั้นตัวการที่เรียกว่า Principal in the first degree ก็คือผู้กระทำความผิดโดยตรงกับผู้กระทำผิดโดยอ้อมตามกฎหมายอาญาไทยนั้นเอง เช่น
            ตัวอย่างที่ 1 แดงไปหาซื้อปืนเถื่อนมา และนำปืนที่ซื้อมานั้นไปชิงทรัพย์ในร้านสะดวกซื้อ จะเห็นได้ว่าแดงเป็นผู้ที่กระทำความผิดด้วยตัวของเขาเอง แดงจึงเป็น Principal in the first degree หรือผู้กระทำความผิดโดยตรง
            ตัวอย่างที่ 2 แดงต้องการลักร่มของนายดำ แต่แดงไม่กล้าหยิบเองจึงหลอกนายขาวว่า ช่วยหยิบร่มที่วางอยู่ใกล้ ๆ ตัวของนายขาวให้หน่อย โดยบอกกับนายขาวว่าเป็นร่มของแดงเอง ทั้งที่ร่มเป็นของดำ เช่นนี้ถือได้ว่าแดงนั้นได้ใช้ผู้บริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ถือว่าแดงเป็น Principal in the first degree เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 1 ซึ่งตามคำอธิบายกฎหมายอาญาของไทยเรียกว่า ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม


2. Principal in the second degree

            ตัวการในลำดับที่ 2 หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งกระทำอันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดในการลงมือกระทำความผิด และเป็นผู้ที่อยู่ด้วยหรืออยู่ใกล้พอที่จะให้การช่วยเหลือผู้ที่ลงมือกระทำความผิดได้ในเวลาที่จะกระทำความผิดหรือในเวลาที่ก่ออาชญากรรม ซึ่งตามคำอธิบาย Principal in the second degree ของกฎหมายอาญาของคอมมอนลอว์นี้ก็คือ หลักในเรื่องตัวการร่วมในตาม ม.83 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทยนั่นเอง เช่น
            ตัวอย่างที่ 1 นายแดงได้สมคบกับนายดำเพื่อวางแผนว่าจะไปชิงทรัพย์ธนาคารแห่งหนึ่งในเวลาเที่ยงวัน เมื่อถึงวันเกิดเหตุนายแดงเป็นค้นเข้าไปในธนาคารใช้ปืนขู่ให้พนักงานส่งเงินสดให้ ส่วนนายดำอยู่ในรถซึ่งสตาร์ทอยู่หน้าธนาคารไว้รอรับนายแดงเพื่อหลบหนี จะเห็นว่านายแดง คือ Principal in the first degree หรือผู้กระทำความผิดโดยตรง ส่วนนายดำเรียกว่า Principal in the second degree หรือตัวการตาม ม.83
            พิจารณาตัวการในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ม.276
            ตัวอย่างที่ 2 นายแดงร่วมกับนายดำฉุดนางขาวไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา โดยที่นายแดงเพียงคนเดียวเป็นคนที่กระทำชำเรานางขาว ส่วนนายดำช่วยจับแขนและเอามืออุดปากนางขาวในขณะที่นายแดงได้ชำเรานางขาว  ตามตัวอย่างนี้จะเห็นว่า แดงเป็นผู้ที่ลงมือกระทำชำเรานางขาว ถือว่าแดงเป็น Principal in the first degree หรือผู้กระทำความผิดโดยตรง ส่วนดำไม่ได้ลงมือกระทำชำเราด้วย แต่ได้กระทำอันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือ และอยู่ด้วยในคณะที่แดงกระทำความผิด ถือว่าดำเป็น Principal in the second degree หรือเป็นตัวการร่วมตาม ม.83 ดังนั้นในกรณีนี้แดงมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ม.276 วรรคแรก ดำเป็นตัวการก็ต้องรับโทษเช่นเดียวกับแดงด้วย
            ตัวอย่างที่ 3 นายแดงร่วมกับนายดำฉุดนางขาวไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา โดยที่นายแดงข่มขืนกระทำชำเรานางขาวเสร็จแล้ว นายดำก็ได้กระทำชำเรานางขาวต่อจนสำเร็จ จะเห็นได้ว่าตามตัวอย่างที่ 2 นี้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำนั้นแตกต่างจากตัวอย่างที่ 1 เพราะนายแดงคือ Principal in the first degree ส่วนนายดำก็คือ Principal in the first degree เช่นเดียวกัน เพราะได้ลงมือข่มขืนกระทำชำเรานางขาวเช่นเดียวกับนายแดง ดังนั้นดำตามตัวอย่างที่ 2 จึงไม่ใช่ตัวการตาม ม.83 ซึ่งในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราของไทยนั้น หากได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือชาย จะต้องถูกลงโทษหนักขึ้นด้วย ดังนั้นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือชาย ก็หมายความว่า การข่มขืนกระทำชำเรานั้นจะต้องมี Principal in the first degree อย่างน้อย 2 คนได้กระทำชำเราหญิงหรือชายนั่นเอง


เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้


ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 11 การพยายามกระทำความผิด

บทที่ 11
การพยายามกระทำความผิด


       โดยหลักแล้วกฎหมายอาญาจะไม่ลงโทษกับผู้ที่คิดและตกลงใจในการกระทำความผิด แต่กฎหมายจะลงโทษกับการกระทำที่แสดงออกมาภายนอกแล้วเท่านั้น เพราะเป็นการยากที่จะทราบถึงความคิดภายในจิตใจของบุคคล แม้ผู้ที่คิดและตกลงใจในการกระทำความผิดจะได้แสดงเจตนาออกมาโดยการตระเตรียมที่จะกระทำความผิดตามที่ได้คิดไว้และตกลงใจ โดยหลักแล้วกฎหมายก็ยังไม่ลงโทษ เพราะการตระเตรียมกระทำความผิดนั้นยังไม่เป็นการแสดงออกที่น่าเชื่อถือได้อย่างเพียงพอถึงจิตใจที่เป็นอาชญากรอย่างแน่นอน แต่ก็ยกเว้นสำหรับความผิดบางฐานเท่านั้นที่กฎหมายลงโทษการตระเตรียมกระทำความผิด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงและจะสงผลเสียหายต่อความปลอดภัยของคนในสังคม เช่น ความผิดฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ ตาม ม. 219[1] แต่หากเป็นการพยายามกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดได้แสดงการกระทำออกมาภายนอก Overt Act) ให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงเจตนาที่อยู่ภายในจิตใจ เป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการกระทำความผิด จนถึงขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว และการลงมือกระทำความผิดนี้เอง เป็นตัวแบ่งแยกการพยายามกระทำความผิดกับการตระเตรียมการกระทำความผิดออกจากกัน การลงมือกระทำความผิดเป็นการแสดงออกถึงเจตนาของผู้กระทำว่ามีเจตนาร้ายต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง เช่น ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์ หรือเสรีภาพ ฯลฯ

          การพยายามกระทำความผิดนั้นหากพิจารณาถึงเจตนาผู้กระทำความผิดแล้วจะเห็นว่าเจตนาของเขานั้นเป็นเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จและได้แสดงเจตนานั้นออกมาแล้ว เช่น ความผิดฐานพยายามฆ่า เจตนาในการกระทำความผิดนั้นเป็นเช่นเดียวกับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา และได้กระทำการฆ่าออกมาแล้ว เพียงแต่บังเอิญผู้ถูกฆ่านั้นไม่ตายเท่านั้นเอง ผลของการกระทำนั้นเป็นตัวกำหนดว่าผู้กระทำจะต้องรับผิดในฐานพยายามกระทำความผิดหรือความผิดสำเร็จ ดังนั้นในความผิดที่ไม่ต้องการผล จึงไม่มีความผิดฐานพยายามกระทำความผิด[2]

1. แนวความคิดเกี่ยวกับการพยายามกระทำความผิด

            แนวความคิดเกี่ยวกับการพยายามกระทำความผิดนั้น แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ดังต่อไปนี้
ฝ่ายอัตตะวิสัย (Subjective) พิจารณาถึงจิตใจของผู้กระทำเป็นสำคัญ เมื่อผู้กระทำความผิด ได้แสดงเจตนาออกมาแล้วโดยการลงมือกระทำความผิด ดังนั้นเขาควรจะต้องรับโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ[3]

ฝ่ายภาวะวิสัย (Objective) พิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดจากการกระทำเป็นสำคัญ หากผลที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นยังไม่เกิด ผู้กระทำก็จะมีความผิดเพียงแค่พยายามกระทำความผิดเท่านั้น ไม่อาจลงโทษเท่ากับการกระทำที่เกิดผลตามกฎหมายได้ เช่น ฆ่าคนแต่ไม่ตาย ความตายคือผลที่กฎหมายกำหนดให้มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ดังนั้นเมื่อผู้ถูกฆ่าไม่ตาย ผู้กระทำก็มีความผิดเพียงแค่พยายามกระทำความผิดเท่านั้น

          สำหรับประเทศไทย ยึดถือแนวคิดในเกี่ยวกับการพยายามกระทำความผิดตามแนวคิดใดนั้น พิจารณาได้จากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 วรรคแรก[4] จะเห็นได้ว่า การพยายามกระทำความผิดเป็นการกระทำที่ผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดและได้กระทำโดยการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล แสดงว่าการพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาไทยนั้น ใช้แนวคิดของฝ่ายอัตตะวิสัย (Subjective) เพราะเจตนากระทำความผิดและได้แสดงเจตนานั้นผ่านการลงมือกระทำความผิด ผลจะเกิดหรือไม่ ก็มีความผิดแล้ว แต่บทบัญญัติของมาตรา 80 วรรค 2 ก็บัญญัติไว้ให้การพยายามกระทำความผิดระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมาย แสดงให้เห็นว่าโทษที่จะลงกับผู้พยายามกระทำความผิดไม่เท่ากับความผิดสำเร็จ (ทั้ง ๆ ที่เจตนาเท่ากัน) ซึ่งเป็นแนวความคิดของฝ่ายภาวะวิสัย (Objective) ซึ่งโทษที่จะลงพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ

          ข้อสังเกต : การพยายามกระทำความผิดนั้นหากมองจากแนวคิดของฝ่ายอัตตะวิสัย (Subjective) เจตนากระทำความผิดเป็นอย่างเดียวกันกับความผิดสำเร็จ การที่ความผิดจะสำเร็จหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่นอกการควบคุมของผู้กระทำหรือเป็นเหตุบังเอิญเท่านั้น เช่น นายแดงเจตนาฆ่านายดำ จึงเอาปืนยิงนายดำ แต่ยิงไม่ถูก นายดำจึงไม่ตาย จะเห็นว่าการที่นายดำจะตายหรือไม่ตาย เจตนาของนายแดงไม่ได้แตกต่างกันเลย กล่าวคือชั่วเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเจตนาชั่วเหมือนกัน โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดควรจะต้องเหมือนกันกับความผิดสำเร็จ แต่หากมองจากฝ่ายภาวะวิสัย (Objective) ความเสียหายของการกระทำนั้นไม่เท่ากัน หากความเสียหายคือความตาย ผู้กระทำควรจะต้องถูกลงโทษหนัก แต่หากไม่ถึงตายผู้กระทำก็ต้องรับโทษเบากว่ากรณีที่ถึงตาย

2. เหตุผลในการลงโทษการพยายามกระทำความผิด
          การพยายามกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงเจตนาที่ชั่วร้าย เพียงแต่ผลของการกระทำยังไม่เกิดขึ้นและสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองยังไม่ถูกกระทบกระเทือน[5] เช่น มาตรา 288 ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา สิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองคือชีวิตมนุษย์ การพยายามกระความผิดเป็นการกระทำที่ยังไม่กระทบกระเทือนถึงชีวิต(ไม่ตาย) แม้การเป็นกรณีของการพยายามกระทำความผิดที่ได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของเจตนาแล้ว ไม่ว่าผู้ถูกยิงจะตายหรือไม่ตาย เจตนาของผู้ที่ยิงก็เจตนาเดียวกัน ดังนั้นกฎหมายไม่ควรจะลงโทษการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่เพียงอย่างเดียว การกระทำที่ได้แสดงออกถึงเจตนาจนถึงขึ้นลงมือกระทำความผิดแล้วก็สมควรที่จะได้รับการลงโทษเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการลงโทษบุคคลที่มีเจตนาและลงมือกระทำความผิดต่อผู้อื่น และการลงมือกระทำความผิดก็เป็นการกระทำที่มีความเป็นไปได้สูงของการจะเกิดผลเสียหายต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง[6] และในขณะเดียวกันก็เป็นการยับยั้งไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดจนสำเร็จ (พยายามกระทำความผิดมีโทษน้อยกว่าความผิดสำเร็จ โทษที่ต่างกันมีผลต่อการยังยั้งไม่กระทำความผิดให้สำเร็จ กล่าวคือ การถูกลงโทษฐานพยายามกระทำความผิดเป็นผลดีต่อผู้กระทำมากกว่า)

3. หลักเกณฑ์ของการพยายามกระทำความผิด
          การพยายามกระทำผิดนั้นเป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดมีเจตนากระทำความผิด และได้แสดงออกเจตนานั้นโดยการกระทำที่ถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่ว่าผู้กระทำกระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ได้กำหนดไว้ โดยประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ[7]

อ่านต่อคลิ๊กซื้อหนังสือได้เลยครับ



          [1] ม. 219 ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรา 217 หรือ มาตรา 218 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทำ ความผิดนั้น ๆ
          [2] ความผิดที่ไม่ต้องการผล หมายถึง ความผิดที่เพียงกระทำหรือละเว้นก็เป็นความผิดแล้ว ส่วนผลจะเกิดหรือไม่ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญในการลงโทษ เช่น ความผิดฐานเบิกความเท็จ ตาม ม.177 เมื่อเบิกความเท็จแล้วก็มีความผิดทันที, ความผิดฐานไม่ช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในภยันตราย เมื่อไม่ช่วยแล้วก็มีความผิดทันที ผู้นั้นจะตายหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ (คณิต ณ. นคร, กฎหมายอาญาภาคทั่วไป พิมพ์ครั้งที่ 2. น. 123.)
          [3] อัสนี ภุมมะวัณ, “การลงโทษการพยายามกระทำความผิด.” สารนิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546.
          [4] มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายาม กระทำความผิด
          ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองใน สามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
          [5] รณกรณ์ บุญมี, “ความผิดที่เป็นการเริ่มต้น : ศึกษาแนวความคิดของกฎหมายในระบบคอมมอนลอว์.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2551. น.9.
          [6] คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคทั่วไป . พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน,2547. น.304.
          [7] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1. พิมพ์ครั้งที่ 10.พลสยาม พริ้นติ้ง (ประเทศไทย) : กรุงเทพมหานคร.2551. น.540.

เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ



คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้


ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

บทที่ 10 เหตุลดโทษ

บทที่ 10
เหตุลดโทษ

เหตุลดโทษ (mitigating) ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างความรับผิดทางอาญา (Structure of Crime) ด้วยเหตุผลที่ว่าโครงสร้างความรับผิดทางอาญานั้นมีไว้พิจารณาความรับผิดทางอาญาของบุคคลนั้นว่ามีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ แต่เหตุลดโทษเป็นการพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดนั้นได้รับโทษตามกฎหมายน้อยลง ไม่ได้อยู่ในส่วนของการพิจารณาว่าผู้กระทำต้องรับโทษหรือไม่ ดังนั้นเหตุลดโทษจึงเป็นเหตุที่ทำให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลดโทษหรือลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด[1] ซึ่งเหตุลดโทษมีหลายเหตุ ดังต่อไปนี้

1.      ความไม่รู้กฎหมาย . 64

มาตรา 64 บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
ความไม่รู้กฎหมายนั้นโดยหลักแล้วไม่อาจเอามาอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดได้[2] เพราะกฎหมายสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนย่อมต้องรู้ว่ากฎหมายมีอยู่อย่างไร เป็นหน้าที่ของประชาชนเองที่ต้องคอยติดตามว่ารัฐประกาศใช้กฎหมายอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่ประชาชนทุกคนจะรู้ว่าส่านกฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร โดยเฉพาะการบัญญัติความผิดตามกฎหมายอาญาที่เป็นความผิดเพราะกฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายจราจร พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ความผิดในตัวเอง ดังนั้นหากผู้กระทำความผิดอ้างว่าไม่รู้ว่ากฎหมาย ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557 แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64


เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้


ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 9 เหตุยกเว้นโทษ


บทที่ 9
เหตุยกเว้นโทษ

การกระทำใดที่ครบองค์ประกอบความผิดในฐานนั้นๆ แล้ว (ผ่านโครงสร้างข้อที่ 1) และพิจารณาแล้วว่าการกระทำความผิดนั้นไม่มีเหตุยกเว้นความผิดไว้ (ผ่านโครงสร้างข้อที่ 2) ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดอาญาแล้ว แต่ทั้งนี้อาจมีเหตุตามกฎหมายที่ทำให้ผู้กระทำผิดนั้นไม่ต้องรับโทษทางอาญาในฐานนั้น ๆ ก็ได้ เช่น ไม่ต้องจำคุก หรือถูกปรับ เป็นต้น ซึ่งเรียกเหตุดังกล่าวว่าเหตุยกเว้นโทษ (excuse) เหตุที่กฎหมายยกเว้นโทษให้มีสาเหตุหลายประการ ซึ่งแต่ละเหตุนั้นยังไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมเพียงพอที่กฎหมายจะเว้นความผิดให้เลย แต่ก็มีเหตุผลเพียงพอที่กฎหมายไม่ควรลงโทษบุคคลดังกล่าวตามกฎหมาย แม้เขาเหล่านั้นจะได้กระทำความผิดก็ตาม เช่น การกระทำผิดเพราะไม่รู้ผิดชอบในการกระทำของตนเองเพราะเป็นเด็กหรือคนวิกลจริต ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากความชั่ว[1]หรือเป็นการกระทำด้วยความจำเป็นต้องกระทำซึ่งถือเป็นเหตุที่กฎหมายยกเว้นโทษให้เช่นเดียวกัน[2]
          1. การกระทำผิดด้วยความจำเป็นตาม ม.67
            2. การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี ตาม ม.73 และการกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ตาม ม.74
            3. การกระทำความผิดของคนวิกลจริต ตาม ม.65
            4. การกระทำความผิดด้วยความมึนเมา ตาม ม.66
            5. การกระทำตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงาน ตาม ม.70
            6. การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในบางความผิดระหว่างสามีกริยา ตาม ม.71 วรรคแรก
1. การกระทำผิดด้วยความจำเป็นตาม ม.67
          การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้นกฎหมายอาญาของไทยถือเป็นเหตุยกเว้นโทษ หมายถึง ผู้กระทำยังมีความผิดอยู่แต่ไม่ต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เนื่องจากกฎหมายถือว่า ผู้ที่กระทำนั้นจำเป็นต้องกระทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า โดยสาเหตุที่ไม่มีทางเลือกเนื่องจากกระทำความผิดนั้นมาจาก ถูกบังคับให้กระทำความผิด หรือไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการกระทำความผิด ซึ่งถ้าพิจารณาถึงเจตนาของผู้กระทำความผิดนั้น เขากระทำผิดโดยเจตนาที่จะกระทำ (มีจิตใจที่ชั่วร้าย) จึงมีความผิดอยู่ แต่อย่างไรก็ตามการกระทำความผิดดังกล่าวก็เพราะถูกบังคับให้จำใจต้องกระทำ กฎหมายก็เหตุใจผู้ที่ตกอยู่ในภาวะดังกล่าว กฎหมายจึงให้อภัยโดยการกำหนดให้เป็นเหตุยกเว้นโทษ[3]




เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้


ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

บทที่ 8 เหตุยกเว้นความผิด




บทที่ 8 
เหตุยกเว้นความผิด



1. แนวความคิดเกี่ยวกับการยกเว้นความผิด

เหตุยกเว้นความผิดคือ เหตุที่ทำให้การกระทำความผิดอาญาที่ผ่านโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่ 1 มาแล้วนั้น ไม่มีความผิด ผู้กระทำจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาสำหรับการกระทำนั้น ๆ ซึ่งการที่กฎหมายยกเว้นความรับผิดให้เพราะการกระทำดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้กระทำมีความชอบธรรมที่จะกระทำได้โดยไม่ควรต้องมีความรับผิดทางอาญา โดยเหตุยกเว้นความรับผิดทางอาญามีหลายเหตุ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่เพียงการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และความยินยอมเท่านั้น

2. เหตุยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

1) การกระทำโดยการป้องกัน ม.68 (Lawful Defense)

            เหตุผลที่กฎหมายอาญายอมให้บุคคลที่กระทำอันเป็นความผิดอาญาสามารถอ้างป้องกันตัวได้ เพราะว่ารัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนของรัฐได้อย่างทันท่วงทีและตลอดเวลา รัฐจึงให้สิทธิป้องกันตัวแก่ประชาชน โดยการกระทำของประชาชนนั้นแม้จะครบองค์ประกอบความผิดหรือผ่านโครงสร้างทางอาญาโครงสร้างที่ 1 มาแล้วก็ตาม ประชาชนก็มีความชอบธรรมในการป้องกันตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายอันจะเกิดขึ้นกับตัวเองหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้นโดยไม่ต้องรับผิดทางอาญา ซึ่งการป้องกันตามกฎหมายไทยอยู่ใน มาตรา 68 “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

หลักเกณฑ์ของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย[1]

            การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ม. 68 ของประมวลกฎหมายอาญานั้นจะต้องครบหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ หากไม่ครบแต่เพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ใช่การป้องกันโดยชอบที่เป็นเหตุยกเว้นความผิดที่อยู่ในโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่ 2

            1) มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย คำว่ามีภยันตราย (Danger) หมายถึง ภัยที่เป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพ ทรัพย์สิน[2] ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคล ภัยที่เป็นอันตรายต่อสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองอยู่ เมื่อมีผู้ใดมาประทุษร้ายย่อมสามารถป้องกันได้ ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ผู้กระทำมีอำนาจกระทำได้[3] แต่หากยังไม่มีภยันตราย ก็ไม่อาจอ้างป้องกันได้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 5664/2540 จำเลยเพียงแต่เกรงว่าผู้ตายจะชักปืนออกมายิง ทั้งที่ยังไม่มีพฤติการณ์ที่ส่อว่าผู้ตายจะชักปืนออกมายิงทำร้ายจำเลย และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธปืน จึงถือว่ายังไม่มีภยันตรายที่จำเลยจำต้องป้องกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันตามกฎหมาย






เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้


ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

บทที่ 7 ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล


บทที่ 7
ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ความผิดอาญาทุกฐานความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดในประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอาญาอื่น ต้องมีองค์ประกอบความผิด (Element of Crime) เสมอ เพราะบุคคลจะมีความรับผิดทางอาญาได้นั้นต้องมีการกระทำครบองค์ประกอบความผิดในแต่ละฐานนั้น โดยพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามโครงสร้างความรับผิดทางอาญาดังต่อไปนี้
            1) การกระทำ
          2) การกระทำครบองค์ประกอบความผิด
          3) ผลของการกระทำมีความสัมพันธ์กับการกระทำ (causation)
            เมื่อได้พิจารณาผ่านทั้ง 3 ส่วนนี้แล้วถือว่า ผ่านโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่ 1 ซึ่งจะพิจารณาในโครงสร้างที่ 2 ต่อไป การพิจารณาในส่วนที่ 3 ต้องผ่านครบองค์ประกอบความผิดทั้งภายนอกและภายในแล้ว จึงจะมาพิจารณาว่าผลกับการกระทำสัมพันธ์กันหรือไม่[1]
1. ความสำคัญของหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาได้ต่อเมื่อเขาได้กระทำอันเป็นความผิดกฎหมาย หากเขาไม่ได้กระทำหรือไม่ได้เป็นผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เขาก็ไม่ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นนั้น ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นต้องมีความสัมพันธ์กับการกระทำของผู้กระทำด้วย เช่น นายแดงใช้ปืนยิงนายดำ นายดำได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา แม้นายดำจะไม่ได้ตายทันที แต่ความตายก็เป็นผลมากการกระทำของนายแดง ดังนั้นผลและการกระทำจึงมีความสัมพันธ์กัน นายแดงก็ต้องรับผิดในความตายของนายดำ ซึ่งหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ตำรากฎหมายที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษใช้คำว่า “causation[2]
     


เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา