วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 11 การพยายามกระทำความผิด

บทที่ 11
การพยายามกระทำความผิด


       โดยหลักแล้วกฎหมายอาญาจะไม่ลงโทษกับผู้ที่คิดและตกลงใจในการกระทำความผิด แต่กฎหมายจะลงโทษกับการกระทำที่แสดงออกมาภายนอกแล้วเท่านั้น เพราะเป็นการยากที่จะทราบถึงความคิดภายในจิตใจของบุคคล แม้ผู้ที่คิดและตกลงใจในการกระทำความผิดจะได้แสดงเจตนาออกมาโดยการตระเตรียมที่จะกระทำความผิดตามที่ได้คิดไว้และตกลงใจ โดยหลักแล้วกฎหมายก็ยังไม่ลงโทษ เพราะการตระเตรียมกระทำความผิดนั้นยังไม่เป็นการแสดงออกที่น่าเชื่อถือได้อย่างเพียงพอถึงจิตใจที่เป็นอาชญากรอย่างแน่นอน แต่ก็ยกเว้นสำหรับความผิดบางฐานเท่านั้นที่กฎหมายลงโทษการตระเตรียมกระทำความผิด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงและจะสงผลเสียหายต่อความปลอดภัยของคนในสังคม เช่น ความผิดฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ ตาม ม. 219[1] แต่หากเป็นการพยายามกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดได้แสดงการกระทำออกมาภายนอก Overt Act) ให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงเจตนาที่อยู่ภายในจิตใจ เป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการกระทำความผิด จนถึงขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว และการลงมือกระทำความผิดนี้เอง เป็นตัวแบ่งแยกการพยายามกระทำความผิดกับการตระเตรียมการกระทำความผิดออกจากกัน การลงมือกระทำความผิดเป็นการแสดงออกถึงเจตนาของผู้กระทำว่ามีเจตนาร้ายต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง เช่น ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์ หรือเสรีภาพ ฯลฯ

          การพยายามกระทำความผิดนั้นหากพิจารณาถึงเจตนาผู้กระทำความผิดแล้วจะเห็นว่าเจตนาของเขานั้นเป็นเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จและได้แสดงเจตนานั้นออกมาแล้ว เช่น ความผิดฐานพยายามฆ่า เจตนาในการกระทำความผิดนั้นเป็นเช่นเดียวกับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา และได้กระทำการฆ่าออกมาแล้ว เพียงแต่บังเอิญผู้ถูกฆ่านั้นไม่ตายเท่านั้นเอง ผลของการกระทำนั้นเป็นตัวกำหนดว่าผู้กระทำจะต้องรับผิดในฐานพยายามกระทำความผิดหรือความผิดสำเร็จ ดังนั้นในความผิดที่ไม่ต้องการผล จึงไม่มีความผิดฐานพยายามกระทำความผิด[2]

1. แนวความคิดเกี่ยวกับการพยายามกระทำความผิด

            แนวความคิดเกี่ยวกับการพยายามกระทำความผิดนั้น แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ดังต่อไปนี้
ฝ่ายอัตตะวิสัย (Subjective) พิจารณาถึงจิตใจของผู้กระทำเป็นสำคัญ เมื่อผู้กระทำความผิด ได้แสดงเจตนาออกมาแล้วโดยการลงมือกระทำความผิด ดังนั้นเขาควรจะต้องรับโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ[3]

ฝ่ายภาวะวิสัย (Objective) พิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดจากการกระทำเป็นสำคัญ หากผลที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นยังไม่เกิด ผู้กระทำก็จะมีความผิดเพียงแค่พยายามกระทำความผิดเท่านั้น ไม่อาจลงโทษเท่ากับการกระทำที่เกิดผลตามกฎหมายได้ เช่น ฆ่าคนแต่ไม่ตาย ความตายคือผลที่กฎหมายกำหนดให้มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ดังนั้นเมื่อผู้ถูกฆ่าไม่ตาย ผู้กระทำก็มีความผิดเพียงแค่พยายามกระทำความผิดเท่านั้น

          สำหรับประเทศไทย ยึดถือแนวคิดในเกี่ยวกับการพยายามกระทำความผิดตามแนวคิดใดนั้น พิจารณาได้จากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 วรรคแรก[4] จะเห็นได้ว่า การพยายามกระทำความผิดเป็นการกระทำที่ผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดและได้กระทำโดยการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล แสดงว่าการพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาไทยนั้น ใช้แนวคิดของฝ่ายอัตตะวิสัย (Subjective) เพราะเจตนากระทำความผิดและได้แสดงเจตนานั้นผ่านการลงมือกระทำความผิด ผลจะเกิดหรือไม่ ก็มีความผิดแล้ว แต่บทบัญญัติของมาตรา 80 วรรค 2 ก็บัญญัติไว้ให้การพยายามกระทำความผิดระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมาย แสดงให้เห็นว่าโทษที่จะลงกับผู้พยายามกระทำความผิดไม่เท่ากับความผิดสำเร็จ (ทั้ง ๆ ที่เจตนาเท่ากัน) ซึ่งเป็นแนวความคิดของฝ่ายภาวะวิสัย (Objective) ซึ่งโทษที่จะลงพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ

          ข้อสังเกต : การพยายามกระทำความผิดนั้นหากมองจากแนวคิดของฝ่ายอัตตะวิสัย (Subjective) เจตนากระทำความผิดเป็นอย่างเดียวกันกับความผิดสำเร็จ การที่ความผิดจะสำเร็จหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่นอกการควบคุมของผู้กระทำหรือเป็นเหตุบังเอิญเท่านั้น เช่น นายแดงเจตนาฆ่านายดำ จึงเอาปืนยิงนายดำ แต่ยิงไม่ถูก นายดำจึงไม่ตาย จะเห็นว่าการที่นายดำจะตายหรือไม่ตาย เจตนาของนายแดงไม่ได้แตกต่างกันเลย กล่าวคือชั่วเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเจตนาชั่วเหมือนกัน โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดควรจะต้องเหมือนกันกับความผิดสำเร็จ แต่หากมองจากฝ่ายภาวะวิสัย (Objective) ความเสียหายของการกระทำนั้นไม่เท่ากัน หากความเสียหายคือความตาย ผู้กระทำควรจะต้องถูกลงโทษหนัก แต่หากไม่ถึงตายผู้กระทำก็ต้องรับโทษเบากว่ากรณีที่ถึงตาย

2. เหตุผลในการลงโทษการพยายามกระทำความผิด
          การพยายามกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงเจตนาที่ชั่วร้าย เพียงแต่ผลของการกระทำยังไม่เกิดขึ้นและสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองยังไม่ถูกกระทบกระเทือน[5] เช่น มาตรา 288 ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา สิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองคือชีวิตมนุษย์ การพยายามกระความผิดเป็นการกระทำที่ยังไม่กระทบกระเทือนถึงชีวิต(ไม่ตาย) แม้การเป็นกรณีของการพยายามกระทำความผิดที่ได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของเจตนาแล้ว ไม่ว่าผู้ถูกยิงจะตายหรือไม่ตาย เจตนาของผู้ที่ยิงก็เจตนาเดียวกัน ดังนั้นกฎหมายไม่ควรจะลงโทษการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่เพียงอย่างเดียว การกระทำที่ได้แสดงออกถึงเจตนาจนถึงขึ้นลงมือกระทำความผิดแล้วก็สมควรที่จะได้รับการลงโทษเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการลงโทษบุคคลที่มีเจตนาและลงมือกระทำความผิดต่อผู้อื่น และการลงมือกระทำความผิดก็เป็นการกระทำที่มีความเป็นไปได้สูงของการจะเกิดผลเสียหายต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง[6] และในขณะเดียวกันก็เป็นการยับยั้งไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดจนสำเร็จ (พยายามกระทำความผิดมีโทษน้อยกว่าความผิดสำเร็จ โทษที่ต่างกันมีผลต่อการยังยั้งไม่กระทำความผิดให้สำเร็จ กล่าวคือ การถูกลงโทษฐานพยายามกระทำความผิดเป็นผลดีต่อผู้กระทำมากกว่า)

3. หลักเกณฑ์ของการพยายามกระทำความผิด
          การพยายามกระทำผิดนั้นเป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดมีเจตนากระทำความผิด และได้แสดงออกเจตนานั้นโดยการกระทำที่ถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่ว่าผู้กระทำกระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ได้กำหนดไว้ โดยประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ[7]

อ่านต่อคลิ๊กซื้อหนังสือได้เลยครับ



          [1] ม. 219 ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรา 217 หรือ มาตรา 218 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทำ ความผิดนั้น ๆ
          [2] ความผิดที่ไม่ต้องการผล หมายถึง ความผิดที่เพียงกระทำหรือละเว้นก็เป็นความผิดแล้ว ส่วนผลจะเกิดหรือไม่ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญในการลงโทษ เช่น ความผิดฐานเบิกความเท็จ ตาม ม.177 เมื่อเบิกความเท็จแล้วก็มีความผิดทันที, ความผิดฐานไม่ช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในภยันตราย เมื่อไม่ช่วยแล้วก็มีความผิดทันที ผู้นั้นจะตายหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ (คณิต ณ. นคร, กฎหมายอาญาภาคทั่วไป พิมพ์ครั้งที่ 2. น. 123.)
          [3] อัสนี ภุมมะวัณ, “การลงโทษการพยายามกระทำความผิด.” สารนิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546.
          [4] มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายาม กระทำความผิด
          ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองใน สามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
          [5] รณกรณ์ บุญมี, “ความผิดที่เป็นการเริ่มต้น : ศึกษาแนวความคิดของกฎหมายในระบบคอมมอนลอว์.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2551. น.9.
          [6] คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคทั่วไป . พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน,2547. น.304.
          [7] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1. พิมพ์ครั้งที่ 10.พลสยาม พริ้นติ้ง (ประเทศไทย) : กรุงเทพมหานคร.2551. น.540.

เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ



คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้


ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

บทที่ 10 เหตุลดโทษ

บทที่ 10
เหตุลดโทษ

เหตุลดโทษ (mitigating) ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างความรับผิดทางอาญา (Structure of Crime) ด้วยเหตุผลที่ว่าโครงสร้างความรับผิดทางอาญานั้นมีไว้พิจารณาความรับผิดทางอาญาของบุคคลนั้นว่ามีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ แต่เหตุลดโทษเป็นการพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดนั้นได้รับโทษตามกฎหมายน้อยลง ไม่ได้อยู่ในส่วนของการพิจารณาว่าผู้กระทำต้องรับโทษหรือไม่ ดังนั้นเหตุลดโทษจึงเป็นเหตุที่ทำให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลดโทษหรือลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด[1] ซึ่งเหตุลดโทษมีหลายเหตุ ดังต่อไปนี้

1.      ความไม่รู้กฎหมาย . 64

มาตรา 64 บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
ความไม่รู้กฎหมายนั้นโดยหลักแล้วไม่อาจเอามาอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดได้[2] เพราะกฎหมายสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนย่อมต้องรู้ว่ากฎหมายมีอยู่อย่างไร เป็นหน้าที่ของประชาชนเองที่ต้องคอยติดตามว่ารัฐประกาศใช้กฎหมายอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่ประชาชนทุกคนจะรู้ว่าส่านกฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร โดยเฉพาะการบัญญัติความผิดตามกฎหมายอาญาที่เป็นความผิดเพราะกฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายจราจร พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ความผิดในตัวเอง ดังนั้นหากผู้กระทำความผิดอ้างว่าไม่รู้ว่ากฎหมาย ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557 แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64


เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้


ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา