วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

บทที่ 12 ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน



หน่วยที่ 12
ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด


           โดยหลักแล้วความรับผิดในทางอาญานั้นเป็นความรับผิดในการกระทำของตนเอง การกระทำอันเป็นความผิดอันนั้นเองนำมาซึ่งความรับผิดและโทษทางอาญา ซึ่งเราแยกพิจารณาผู้กระทำความผิดในทางอาญาออกเป็น 3 กรณีด้วยกัน            1. ผู้กระทำความผิดด้วยตนเองหรือผู้กระทำความผิดโดยทางตรง ความรับผิดเกิดจากการกระทำทุกๆ อย่างต้องตามบทบัญญัติของความผิดฐานใดฐานหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติด้วยตนเอง เช่น เป็นคนเอาขวดตีหัวคนอื่น ขับรถชนคนอื่นด้วยตัวเอง            2. ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม ความรับผิดเกิดจากการใช้บุคคลที่ไม่มีเจตนากระทำความผิด (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด โดยที่ไม่ถือว่ากระทำความผิดโดยอ้อมไม่ใช่ผู้ใช้ เพราะผู้ถูกใช้ไม่มีเจตนากระทำความผิด            3. ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด (Parties to Crime) ความรับผิดกรณีนี้เกิดจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด เมื่อมีส่วนร่วมก็ต้องสมควรได้รับโทษ


            ในการกระทำความผิดอาญาฐานใดหนึ่งนั้นอาจมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหลายคน ซึ่งอาจเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเป็นผู้ที่ลงมือกระทำความผิดด้วยตนเอง หรือเป็นผู้ที่ได้ร่วมลงมือกระทำความผิด หรือเป็นผู้ที่ให้การช่วยเหลือผู้กระทำความผิด หรือเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเป็นผู้ที่ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด (Parties to Crime)”

            แนวความคิดเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของไทย หรือที่เราคุ้นเคยว่า เรื่อง ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ได้รับอิทธิพลของแนวความคิดกฎหมายอาญาของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ในเรื่อง Parties to Crime ซึ่งตามกฎหมายอาญาของคอมมอนลอว์ได้แยกประเภทของผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเอาไว้ 4 ประเภทด้วยกัน คือ

            1) Principal in the first degree หมายถึง ผู้ลงมือกระทำความผิด เช่น เป็นคนยิง เป็นคนใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เป็นคนเอาทรัพย์ไป เป็นคนหลอกลวงเหยื่อ

            2) Principal in the second degree หมายถึง ตัวการ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด เช่น คนคอยดูต้นทาง พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ (อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ)

            3) Accessory before the fact หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำผิด "ก่อน" ที่จะมีการลงมือกระทำผิด แต่มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ หรือใกล้กลับที่เกิดเหตุ

            4) Accessory after the fact หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้ลงมือ "หลัง" จากได้ลงมือกระทำผิดแล้ว เช่น การช่วยเหลือให้หลบหนีไม่ให้ถูกจับกุม

            ในเรื่องของ Parties to Crime นี้กฎหมายอาญาของคอมมอนลอว์ ได้แยกตัวการออกเป็น 2 ประเภท คือ ตัวการที่เป็น first degree กับตัวการที่เป็น second degree ซึ่งเป็นการแยกตามลักษณะของการกระทำความผิด ส่วนผู้สนับสนุน (Accessory) ก็แยกออกเป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้แยกตามลักษณะของการช่วยเหลือ เพราะทั้งสองประเภทเป็นการกระทำช่วยเหลือที่มีลักษณะเดียวกัน แต่แยกโดยอาศัยเวลาที่ให้การช่วยเหลือผู้กระทำความผิด หากช่วยเหลือก่อนลงมือกระทำความผิดก็เรียกว่า Accessory before the fact และหากช่วยเหลือหลังจากลงมือกระทำความผิดไปแล้วก็เรียกว่า Accessory after the fact



1.       ตัวการ (principal)


ตัวการ (Principal) ว่าตัวการที่กฎหมายอาญาของคอมมอนลอว์แยกออกมาเป็น 2 ประเภท เป็น first degree กับ second degree นั้นแตกต่างกันอย่างไร


1.1 Principal in the first degree

ตัวการในลำดับที่ 1 หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งกระทำความผิดด้วยตัวของเขาเอง (the person who actually commits the crime himself) หรือตามคำอธิบายกฎหมายอาญาของไทยเรียกว่า ผู้กระทำความผิดโดยตรง นอกจากนี้ยังหมายถึงบุคคลผู้ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ที่บริสุทธิ์กระทำความผิดเพื่อตัวของเขา (causes an innocent person to commit the crime for him) ซึ่งตามคำอธิบายกฎหมายอาญาของไทยเรียกว่า ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม ดังนั้นตัวการที่เรียกว่า Principal in the first degree ก็คือผู้กระทำความผิดโดยตรงกับผู้กระทำผิดโดยอ้อมตามกฎหมายอาญาไทยนั้นเอง เช่น
            ตัวอย่างที่ 1 แดงไปหาซื้อปืนเถื่อนมา และนำปืนที่ซื้อมานั้นไปชิงทรัพย์ในร้านสะดวกซื้อ จะเห็นได้ว่าแดงเป็นผู้ที่กระทำความผิดด้วยตัวของเขาเอง แดงจึงเป็น Principal in the first degree หรือผู้กระทำความผิดโดยตรง
            ตัวอย่างที่ 2 แดงต้องการลักร่มของนายดำ แต่แดงไม่กล้าหยิบเองจึงหลอกนายขาวว่า ช่วยหยิบร่มที่วางอยู่ใกล้ ๆ ตัวของนายขาวให้หน่อย โดยบอกกับนายขาวว่าเป็นร่มของแดงเอง ทั้งที่ร่มเป็นของดำ เช่นนี้ถือได้ว่าแดงนั้นได้ใช้ผู้บริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ถือว่าแดงเป็น Principal in the first degree เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 1 ซึ่งตามคำอธิบายกฎหมายอาญาของไทยเรียกว่า ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม


2. Principal in the second degree

            ตัวการในลำดับที่ 2 หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งกระทำอันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดในการลงมือกระทำความผิด และเป็นผู้ที่อยู่ด้วยหรืออยู่ใกล้พอที่จะให้การช่วยเหลือผู้ที่ลงมือกระทำความผิดได้ในเวลาที่จะกระทำความผิดหรือในเวลาที่ก่ออาชญากรรม ซึ่งตามคำอธิบาย Principal in the second degree ของกฎหมายอาญาของคอมมอนลอว์นี้ก็คือ หลักในเรื่องตัวการร่วมในตาม ม.83 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทยนั่นเอง เช่น
            ตัวอย่างที่ 1 นายแดงได้สมคบกับนายดำเพื่อวางแผนว่าจะไปชิงทรัพย์ธนาคารแห่งหนึ่งในเวลาเที่ยงวัน เมื่อถึงวันเกิดเหตุนายแดงเป็นค้นเข้าไปในธนาคารใช้ปืนขู่ให้พนักงานส่งเงินสดให้ ส่วนนายดำอยู่ในรถซึ่งสตาร์ทอยู่หน้าธนาคารไว้รอรับนายแดงเพื่อหลบหนี จะเห็นว่านายแดง คือ Principal in the first degree หรือผู้กระทำความผิดโดยตรง ส่วนนายดำเรียกว่า Principal in the second degree หรือตัวการตาม ม.83
            พิจารณาตัวการในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ม.276
            ตัวอย่างที่ 2 นายแดงร่วมกับนายดำฉุดนางขาวไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา โดยที่นายแดงเพียงคนเดียวเป็นคนที่กระทำชำเรานางขาว ส่วนนายดำช่วยจับแขนและเอามืออุดปากนางขาวในขณะที่นายแดงได้ชำเรานางขาว  ตามตัวอย่างนี้จะเห็นว่า แดงเป็นผู้ที่ลงมือกระทำชำเรานางขาว ถือว่าแดงเป็น Principal in the first degree หรือผู้กระทำความผิดโดยตรง ส่วนดำไม่ได้ลงมือกระทำชำเราด้วย แต่ได้กระทำอันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือ และอยู่ด้วยในคณะที่แดงกระทำความผิด ถือว่าดำเป็น Principal in the second degree หรือเป็นตัวการร่วมตาม ม.83 ดังนั้นในกรณีนี้แดงมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ม.276 วรรคแรก ดำเป็นตัวการก็ต้องรับโทษเช่นเดียวกับแดงด้วย
            ตัวอย่างที่ 3 นายแดงร่วมกับนายดำฉุดนางขาวไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา โดยที่นายแดงข่มขืนกระทำชำเรานางขาวเสร็จแล้ว นายดำก็ได้กระทำชำเรานางขาวต่อจนสำเร็จ จะเห็นได้ว่าตามตัวอย่างที่ 2 นี้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำนั้นแตกต่างจากตัวอย่างที่ 1 เพราะนายแดงคือ Principal in the first degree ส่วนนายดำก็คือ Principal in the first degree เช่นเดียวกัน เพราะได้ลงมือข่มขืนกระทำชำเรานางขาวเช่นเดียวกับนายแดง ดังนั้นดำตามตัวอย่างที่ 2 จึงไม่ใช่ตัวการตาม ม.83 ซึ่งในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราของไทยนั้น หากได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือชาย จะต้องถูกลงโทษหนักขึ้นด้วย ดังนั้นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือชาย ก็หมายความว่า การข่มขืนกระทำชำเรานั้นจะต้องมี Principal in the first degree อย่างน้อย 2 คนได้กระทำชำเราหญิงหรือชายนั่นเอง


เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้


ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น