วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 2 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโครงสร้างความรับผิดทางอาญา

บทที่ 2
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโครงสร้างความรับผิดทางอาญา


โครงสร้างความรับผิดทางอาญา หรือ Structure of Crime มีความสำคัญในการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของบุคคล ซึ่งต้องพิจารณาความรับผิดของบุคคลนั้นอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งเราเรียกขั้นตอนนี้ว่า “โครงสร้างความรับผิดทางอาญา” เมื่อเราพิจารณาไปตามโครงสร้างนี้แล้ว เราจะสามารถวินิจฉัยได้ว่าบุคคลนั้น ๆ จะมีความผิดทางอาญาหรือไม่ และต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่

1. โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของต่างประเทศ
          โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันไปตามแนวความคิดและกฎหมายอาญาของประเทศนั้น ซึ่งแยกโครงสร้างความรับผิดทางอาญาตามระบบกฎหมายได้ 2 ระบบ คือ โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) และโครงสร้างความรับผิดทางอาญาของระบบวิวิวลอว์ (Civil Law) ซึ่งโครงสร้างความรับผิดทางอาญาของแต่ละระบบก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้างตามแนวความคิดและพัฒนาการทางกฎหมายที่แตกต่างกัน[1] ซึ่งพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

1.1       


โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของระบบคอมมอนลอว์ (Common Law)


การที่จะวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายอาญาคอมมอนลอว์นั้น ก่อนอื่นต้องพิจารณาเสียก่อนว่าการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ (Element of Crime) โดยพิจารณาไปทีละส่วน คือ พิจารณาจากส่วนที่อยู่ภายนอก เสร็จแล้วจึงค่อยไปพิจารณาส่วนที่อยู่ภายในของผู้กระทำผิด โครงสร้างความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายนี้ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ได้วางโครงสร้างความรับผิดทางอาญาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการกระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือ Actus Reus และส่วนที่เป็นเจตนาร้ายหรือจิตใจที่ชั่วร้าย หรือ Mens Rea ซึ่งอยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำ[2]
1) ส่วนที่เป็นการกระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย (Actus Reus) หรือ Criminal Act[3] หมายถึง การกระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด จุดเริ่มต้นของการพิจารณาความรับผิด คือ จะต้องมีการกระทำเพราะกฎหมายอาญามุ่งลงโทษสิ่งที่เป็นการกระทำจะไม่ลงโทษสิ่งที่เป็นความคิด
ส่วนที่เป็นการกระทำ (Actus) ตรงกับคำว่า Act หมายถึง การกระทำส่วน Reus ตรงกับคำว่า Wrong หมายถึง ความผิดการกระทำตามกฎหมายคอมมอนลอว์ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ คือ
1) อิริยาบท
2) พฤติการณ์ประกอบอิริยาบท และ
3) ผลของอิริยาบทและพฤติการณ์ประกอบอิริยาบทนั้น
ส่วนที่เรียกว่าความผิด (Reus) เป็นการพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีกฎหมายบัญญัติว่าเป็น “ความผิด” หรือไม่ ซึ่งในที่นี้จะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้าหากไม่มีกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด ก็ถือว่าขาดองค์ประกอบของความผิด การพิจารณาส่วนนี้เรียกว่า Reus
2) เจตนาร้าย (Mens Rea) หรือ Criminal Intent คือสิ่งที่บ่งบอกสภาวะที่แท้จริงของจิตใจอันเกี่ยวกับจิตใจที่ชั่วร้าย (evil mind) ของผู้กระทำ[4] นอกจากนี้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ คำว่า เจตนาร้าย หมายความครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็น การกระทำโดยเจตนา (intention) และส่วนที่เป็นการกระทำโดยประมาทโดยรู้ตัว (Recklessness) อีกด้วย ซึ่งความเห็นของนักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันเห็นว่า เจตนาร้าย (mens rea) มีอยู่ในส่วนของการกระทำโดยเจตนาและการกระทำประมาทโดยรู้ตัว (recklessness) ส่วนกรณีการประมาทธรรมดา (negligence) ยังมีข้อโต้เถียงกันว่าจะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาร้าย (mens rea) หรือไม่
ประมาทโดยรู้ตัว (recklessness) คือการที่ผู้กระทำรู้ถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิดผลร้าย แต่ก็มิได้นำพา ละเลย ไม่ใส่ใจ อันเป็นการประมาทเลินเล่อ เช่น นายแดงรู้ทราบว่ารถของตนเบรกไม่ดี แต่ก็ยังฝืนขับไป และเกิดชนคนตายเพราะรถเบรกไม่อยู่ เป็นการกระทำโดยประมาทโดยรู้ตัว (recklessness)[5] เพราะรู้ถึงความบกพร่องของรถ แต่ยังฝืนใช้ไม่ซ่อมให้ดี ตามกฎหมายคอมมอนลอว์ ถือว่ามีเจตนาร้าย (Mens Rea) แต่ถ้าเป็นกรณีประมาทธรรมดาหรือประมาทเพราะความผลั้งเผลอ (negligence) เช่น ขับรถด้วยความเร็วเพราะรีบกลับบ้านจนถึงทางแยกเบรกไม่ทัน ทำให้รถไปชนคนตาย เช่นนี้เป็นความประมาทธรรมดา (negligence) ไม่ถือว่ามีเจตนาร้าย (mens rea)

1.2 โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของซิวิลลอว์ (Civil Law)

ระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law system) เป็นระบบกฎหมายที่ใช้กันในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป อาทิ เช่น ประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ซึ่งมีพื้นฐานทางกฎหมายมาจากกฎหมายในยุคอาณาจักรโรมันที่มีอิทธิพลในยุโรป หลังอาณาจักรโรมันล่มสลาย กฎหมายของโรมันก็ถูกนำมาใช้ในประเทศต่าง ๆ ที่เคยเป็นอาณานิคมและได้แยกเป็นอิสระนั้นด้วย โดยการจัดทำประมวลกฎหมายเป็นของตนเอง ซึ่งเรียกกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรนี้ว่า กลุ่มประเทศระบบกฎหมายแบบซิวิลลอว์ (Civil Law)
สำหรับแนวความคิดของสำนักกฎหมายอาญาแบบซิวิลลอว์ เห็นว่ากฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการลงโทษการกระทำผิดของบุคคลในสังคม จึงต้องพิจารณาถึงตัวผู้กระทำและการกระทำของบุคคลนั้นว่าเป็นการกระทำความผิดและสมควรถูกลงโทษตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งลำดับหรือโครงสร้างในการพิจารณาความรับผิดทางอาญาของกฎหมายอาญาซิวิลลอว์ ต้องพิจารณาตามขั้นตอนดังต่อไปนี้[6]
1) พิจารณาว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบตามองค์ประกอบของความผิดของความผิดฐานนั้นหรือไม่
2) พิจารณาว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นความผิดกฎหมาย (Rechtswidrigkeit) เช่น หากการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายกฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิด
3) พิจารณาถึงความรู้ผิดชอบชั่วดี (Schuld) ของผู้กระทำว่าสมควรที่จะต้องรับโทษตามกฎหมายหรือไม่ เช่น หากผู้กระทำความผิดเป็นเด็กซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีกฎหมายก็ยกเว้นโทษให้ เป็นต้น



เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 มกราคม 2565 เวลา 19:36

    Casino Site in the UK | ᐈ Bonus, Codes & Free Spins
    The Casino Website offers all your favourite 제왕 카지노 games from your favourite casino 메리트 카지노 쿠폰 games and sportsbook 카지노사이트 providers for fun. Online Casino Review. Mobile.

    ตอบลบ