วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 3 การใช้กฎหมายอาญาบังคับ


บทที่ 3การใช้กฎหมายอาญาบังคับ


1 แนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
มีปัญหาให้พิจารณาว่าหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น กฎหมายอาญาของไทยจะมีอำนาจเหนือคดีนั้นแค่ไหน รัฐมีอำนาจบัญญัติให้การกระทำใดหรือไม่กระทำการใดเป็นความผิด แต่กฎหมายของรัฐจะสามารถใช้บังคับได้เพียงใดและทุกกรณีหรือไม่ ซึ่งกฎหมายอาญาที่รัฐบัญญัติขึ้นมาโดยหลักแล้วย่อมใช้บังคับได้ในรัฐเท่านั้น ไม่อาจจะนำไปบังคับใช้เหนือรัฐอื่นได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักอธิปไตยของแต่ละรัฐ ความผิดอาญานั้นหากได้กระทำในประเทศไทยก็ย่อมสามารถใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับได้ แต่ในบางกรณีความผิดอาญานั้นได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็มีปัญหาว่าจะใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับได้หรือไม่ ซึ่งกฎหมายที่กำหนดว่าประเทศไทยจะมีอำนาจเหนือคดีอาญานั้นหรือไม่ คือ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา[1]
          กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นกฎหมายภายใน เพราะเป็นกฎหมายว่าด้วยการใช้กฎหมายอาญาของรัฐ การจะบัญญัติกฎหมายอาญาเพื่อละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น ไม่สามารถทำได้ ซึ่งการบัญญัติกฎหมายอาญาของรัฐต้องคำนึงถึงจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ ซึ่งจุดเกาะเกี่ยวอันจะทำให้รัฐมีอำนาจเหนือคดีอาญานั้นได้มีดังต่อไปนี้


2 จุดเกาะเกี่ยวที่ทำให้ประเทศไทยมีอำนาจเหนือคดีอาญา
1) หลักดินแดน (Territorial principle) 
          หลักดินแดนนี้มีมาจากรัฐแต่ละรัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยและใช้กฎหมายเหนือดินแดนของรัฐนั้น[2] ซึ่งพิจารณาจากสถานที่ความผิดได้เกิดขึ้น โดยถือเอาเอาอาณาเขตของรัฐเป็นจุดเกาะเกี่ยว[3] หากเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยแล้วย่อมลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาไทยได้ ซึ่งราชอาณาจักรไทย หมายถึง พื้นดิน พื้นน้ำ รวมถึงอากาศเหนือพื้นดินพื้นน้ำนั้นด้วย หลักดินแดนนี้ยังขยายอำนาจของศาลไทยออกไปอีก ความผิดทั้งหมดไม่ต้องเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่น เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของการกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักรไทย หรือสถานที่ผลของการกระทำความผิดได้เกิดขึ้น กฎหมายอาญาไทยก็มีอำนาจเหนือคดีนั้น ตาม "ทฤษฎีรวมสถานที่เกิดเหตุ"
          ความผิดที่กระทำในราชอาณาจักร มาตรา 4 “ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย”
ราชอาณาจักร หมายถึงดินแดนของประเทศไทย ซึ่งดินแดนของประเทศไทยพิจารณาตามหลักดินแดนดังนี้
1. พื้นดิน พื้นน้ำ ลำคลอง ที่อยู่ภายในเส้นเขตแดนของไทย รวมถึงเกาะด้วย
2. ทะเลอาณาเขต หมายถึง ท้องทะเลที่ติดกับเส้นเขตแดนของรัฐ วัดห่างออกไปจากฝั่ง 12 ไมล์ทะเล
3. พื้นอากาศ (Air Space) ที่อยู่เหนือข้อที่ 1 และ 2 ก็ถือว่าเป็นดินแดนของประเทศไทยด้วย
ซึ่งความผิดที่กระทำในราชอาณาจักรตามมาตรา 4 วรรคแรก หมายถึงการกระทำความผิดทั้งหมดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร[4] แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ผลของการกระทำเกิดขึ้นในราชอาณาจักร แต่ได้กระทำนอกราชอาณาจักร เช่น แดงยิงดำในประเทศไทย แต่ไม่ตาย ไปรักษาตัวอยู่ที่ประเทศมาเลเซียแล้วตายที่มาเลเซีย กรณีเช่นนี้ย่อมใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับได้ เพราะเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรทั้งหมด เพียงแต่ผลไปเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรเท่านั้น หรือกรณีที่แดงยืนอยู่ฝั่งไทย ยกปืนเล็งจะยิงดำซึ่งยื่นอยู่ฝั่งพม่า แต่ถูกตำรวจจับเสียก่อนไม่ทันได้ยิง ดังนี้แดงก็มีควาผิดฐานพยายามฆ่าและต้องรับโทษในราชอาณาจักรแล้ว เพราะการกระทำความผิดทั้งหมดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร[5]


เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้


ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น