วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 4 การกระทำครบองค์ประกอบภายนอก



บทที่ 4
การกระทำครบองค์ประกอบความผิด


ความผิดอาญาแต่ละฐานความผิดล้วนต้องมีองค์ประกอบความผิดเสมอ ถ้าไม่ครบองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งในความผิดฐานนั้นแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดอาญา โดยที่องค์ประกอบความผิดแต่ละฐานนั้น ต้องแยกพิจารณา 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ภายนอกเรียกว่า “องค์ประกอบภายนอก” และส่วนที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำ เรียกว่า “องค์ประกอบภายใน[1]
องค์ประกอบภายนอก องค์ประกอบที่อยู่ภายนอกของความผิดแต่ละฐาน สามารถพิจารณาและเห็นได้จากภายนอก โดยความผิดแต่ละฐานจะมีองค์ประกอบภายนอก คือ ผู้กระทำความผิด การกระทำความผิด และวัตถุแห่งการกระทำความผิด ซึ่งจะอธิบายต่อไป
องค์ประกอบภายใน หมายถึง องค์ประกอบที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก เพราะเป็นส่วนที่อยู่ในจิตใจของผู้กระทำ ซึ่งเราจะพิจารณาส่วนที่ อยู่ในจิตใจนี้ได้จากการกระทำ โดยหลักการที่ว่า "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" องค์ประกอบภายในได้แก่ เจตนาและประมาท
1. องค์ประกอบภายนอก
          1) ผู้กระทำ
          2) การกระทำ
          3) วัตถุแห่งการกระทำ

ตัวอย่างที่ 1 ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามมาตรา 288 "ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี“
องค์ประกอบภายนอกความผิดฐานนี้คือ
1) ผู้กระทำ คือ ผู้ใด 2) การกระทำ คือ ฆ่า และ3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ ผู้อื่น
          ตัวอย่างที่ 2 ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท
1) ผู้กระทำ คือ ผู้ใด 2) การกระทำ คือ เอาไป และ3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
          ตัวอย่างที่ 3 ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ตามมาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
1) ผู้กระทำ คือ หญิงใด 2) การกระทำ คือ ทำให้แท้งลูกหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก และ 3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ ชีวิตในครรภ์
          จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบภายนอกทั้ง 3 องค์ประกอบคือ ผู้กระทำ การกระทำวัตถุแห่งการกระทำ นั้นสามารถพิจารณาได้จากบทบัญญัติ ของมาตรานั้น ๆ ว่าบัญญัติไว้อย่างไร ซึ่งถ้าหากพิจารณาแล้ว ครบองค์ประกอบทั้ง 3 องค์ประกอบแสดงว่า การกระทำนั้น ครบองค์ประกอบภายนอก และค่อยจึงค่อยพิจารณาองค์ประกอบภายในต่อไป
1. ผู้กระทำ
ความรับผิดในทางอาญาเกิดขึ้นได้แก่บุคคลเท่านั้น สัตว์และสิ่งของ ย่อมไม่อาจ เป็นผู้กระทำผิดได้ บุคคลที่เป็นมนุษย์และนิติบุคคลก็สามารถกระทำผิดได้ ความผิดอาญาส่วนใหญ่ ไม่ได้จำกัดผู้กระทำผิดว่าหมายถึงใคร มักจะใช้คำว่า “ผู้ใด” Whoever เว้นแต่ความผิดบางฐาน เช่น ความผิดฐานทำให้แท้งลูกผู้กระทำต้องเป็นหญิงเท่านั้น ความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานเท่านั้น

          ผู้กระทำความผิดอาญา แยกออกเป็น 3 ประเภท[2]
                   1. ผู้กระทำผิดเอง
                   2. ผู้กระทำผิดโดยอ้อม
                   3. ผู้ร่วมในการกระทำความผิด (Parties to Crime)

          1.1 ผู้กระทำผิดเอง หมายถึงผู้นั้นได้กระทำผิดเองโดยตรง (Direct) เช่น ใช้มีดฟัน ใช้ปืนยิงเอง เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปเอง หรือการใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการกระทำผิด เช่น ใช้สุนัขที่เลี้ยงไว้ไปคาบ เอากระเป๋าเงินของคนอื่น หรือการใช้บุคคลผู้ไม่มีการกระทำเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด[3] เช่น สะกดจิตใช้ให้ไปฆ่าคน หรือขณะที่ขาวเผลอ แดงจับมือขาวเขกหัวดำ
   


เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น