วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 1 ความหมายและลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา

บทที่ 1ความหมายและลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา


1. ความหมายของกฎหมายอาญา
          กฎหมายอาญา (Criminal Law) เป็นกฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น เพื่อกำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดและกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้น ดังนั้น กฎหมายอาญาจึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่า การกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดเป็นความผิด[1] ซึ่งความผิดอาญาส่วนใหญ่มีลักษณะที่มาจากศีลธรรม[2] กฎหมายอาญาไม่ได้มีอยู่แต่เฉพาะประมวลกฎหมายอาญา (Criminal Code) เท่านั้น กฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญาก็ถือว่าเป็นกฎหมายอาญาเช่นเดียวกัน เช่น พระราชบัญญัติอาวุธปืน พระราชบัญญัติจราจรทางบก พระราชบัญญัติการค้าประเวณี ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ดังนั้นจึงถือว่าเป็นกฎหมายอาญา
          กฎหมายอาญานั้นเป็นกฎหมายมหาชนที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสงบเรียบร้อยของสังคมรวมถึงสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ในสังคมนั้นด้วย โดยใช้กลไกต่าง ๆ ของรัฐเพื่อลงโทษผู้กระทำฝ่าฝืนกฎหมายอาญาของรัฐ ดังนั้นกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กระทบกระเทือนถึงเสรีภาพของบุคคล จึงต้องมีการตรากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นซึ่งมีความชัดเจนแน่นอนเพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าการกระทำเช่นไรเป็นความผิดและต้องถูกลงโทษหากมีการฝ่าฝืน
2. สาระสำคัญของกฎหมายอาญา
2.1 กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น
          กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดให้บุคคลกระทำการใดหรือห้ามไม่ให้กระทำการใด ซึ่งเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของตนในสังคม แต่กฎหมายอาญาก็เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่จะใช้บังคับกับคน สังคมให้เกิดความสงบเรียบร้อย อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ดังนั้นแม้ว่ากฎหมายอาญาจะกระทบกระเทือนกับสิทธิเสรีภาพของตนในสังคมก็ตาม แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายอาญา รัฐเป็นผู้ออกกฎหมายโดยผ่านกระบวนการออกกฎหมายของแต่ละรัฐ
          2.2 กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำหรือไม่กระทำอย่างใดเป็นความผิด
กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมในการปฏิบัติต่อกัน และเป็นธรรมดาที่ในสังคมซึ่งมีผู้คนจำนวนมากนั้น ผู้คนเหล่านั้นย่อมมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะกระทำการอันไม่ถูกต้องจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียหายได้ ได้รับความเดือดร้อน รำคาญ ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามหลักของศีลธรรม ไม่ชอบตามจารีตประเพณี เช่น การทำร้ายร่างกาย ฆ่าผู้อื่น หรือกระทำต่อทรัพย์สิน เช่น ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดและประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าการกระทำอันไม่ชอบนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และต้องได้รับโทษ เพื่อให้คนในสังคมได้ทราบโดยทั่วกันว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำอันผิดกฎหมายและต้องได้รับโทษหากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม
แต่บางครั้งกฎหมายอาญาก็ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากหลักศีลธรรม หรือจารีตประเพณี แต่รัฐเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของคนในสังคมโดยแท้ ซึ่งเรียกว่าเป็นกฎหมายเทคนิค (technical law) เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก
            2.3 กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีโทษกำหนดไว้
          กฎหมายอาญามีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้มีความแตกต่างจากกฎหมายอื่นๆ คือ หากผู้ใดก็ตามที่ฝ่าฝืนหรือกระทำการอันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาแล้ว ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายอาญาบัญญัติไว้ การลงโทษผู้กระทำความผิด รัฐเท่านั้นจะเป็นผู้ลงโทษได้ ผู้เสียหายหรือผู้อื่นแม้จะรู้สึกโกรธแค้นหรือไม่พอใจต่อการกระทำความผิดนั้นอย่างไร ก็จะลงโทษผู้กระทำผิดไม่ได้
          


เป็นเนื้อหาบางส่วนที่นำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป หากต้องการอ่านทั้งหมดสามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไปจัดทำขึ้นมาโดยประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นการตั้งคำถามและอธิบายหลักการตามกฎหมาย รวมถึงมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนกฎหมายอาญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น